work life balance คืออะไร จำเป็นต้องทำหรือไม่


work life balance

หลายคนคงได้เห็นคำว่า Work life Balance กันบ้างแล้ว ซึ่งถ้าอ่านแล้วตีความหมายอย่างง่ายคือการปรับการทำงานและชีวิตให้สมดุลกัน ไม่มีอะไรมากกว่ากัน โดย Work-life Balance คือ แนวคิดเกี่ยวกับการปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว เพื่อลดผลกระทบจากการทำงานหนักเกินไป ซึ่งมีประโยชน์สำหรับคนยุคใหม่ ทั้งที่ทำงานประจำและอาชีพอิสระ

เมื่องานหนักทำให้เราไม่สามารถหยุดคิดงานในเวลาพักผ่อน หรือกระทบอารมณ์จนพาลให้เครียด หมดสนุกกับเวลาส่วนตัว พูดให้เห็นภาพคือ ตัวอยู่บ้านแต่ใจอยู่กับงาน สัดส่วนระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวที่เรารู้สึกได้อาจจะเป็น 80:20 ก็ได้ แม้เราจะทำตามตารางเวลาที่แบ่งเวลาไว้ที่ 50:50 ก็ตาม วันนี้จะพาไป สร้าง Work-Life Balance อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเรากันเลยดีกว่า

1.แบ่งให้ชัดระหว่างงานและที่บ้าน

หลายคนแม้ว่าจะเลิกงานจนกลับมาถึงบ้านแล้วก็ยังคงพกความกังวลใจเกี่ยวกับการทำงานมา จนก่อให้เกิดเป็นความเครียด ซึ่งเราควรต้องแยกสิ่งที่ต้องทำที่ทำงานกับที่บ้านออกจากกันอย่างเด็ดขาด ตั้งใจกับการทำงานเมื่ออยู่ในเวลางาน และให้เวลากับตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่เมื่อหมดเวลางาน

2.พยายามไม่คิดเรื่องงานตลอดเวลา

สำหรับคนที่มีความกังวลก็อาจจะยากหน่อย แต่เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ถ้าหากคุณทำมันได้ เวลาที่เราจะต้องทำงานอะไรบางชิ้นให้เสร็จ หากเราทำมันอย่างเต็มที่และส่งต่อไปให้คนอื่นเรียบร้อยแล้ว การวนกลับไปดูหรือคิดถึงงานนั้นซ้ำ ๆ อาจทำให้สมองของเราทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา จนอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับหรือบางคนก็ถึงขั้นเก็บเอาเรื่องงานไปฝัน เพียงแค่คุณทำงานในส่วนของตนเองอย่างเต็มที่แล้วก็ไม่ต้องมีอะไรที่น่ากังวลใจแล้วล่ะ 

3.ทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุขบ้าง

เพราะสิ่งที่เราชอบจะช่วยเติมพลังในทุกๆ ด้าน เหมือนกับการชาร์จแบตโทรศัพท์ ที่ทำให้เราพร้อมที่จะทำงาน ลองแบ่งเวลาสำหรับมอบความสุขให้ตนเองวบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกไปกินอาหารอร่อยๆ การได้เข้าสปา การเสริมสวยดูแลตัวเอง หรือแม้แต่การนอนเล่นพร้อมดูหนังชิลๆ ที่บ้าน เท่านี้ก็สร้างความสุขให้กับคุณแล้วล่ะ และเป็นไปได้ ในเวลาเลิกงานหรือวันหยุด ปิดเครื่องมือสื่อสารไปเลย จะได้ไม่ต้องมีเรื่องงานมาให้กังวลใจ 

4.รู้จักปฏิเสธหรือต่อรองการขอความช่วยเหลือ

หลายคนเมื่อถูกขอความช่วยเหลือ จะรู้สึกว่าคงรู้สึกผิดถ้าไม่ได้ช่วย แต่จริงๆแล้ว คุณต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธและต่อรองการขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานบ้าง เพื่อแบ่งเบาภาระงานเพื่อช่วยให้จดจ่อกับงานและผลิตงานที่มีคุณภาพได้มากขึ้น